ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา

ประวัติของสถานศึกษา

            วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี จัดตั้งขึ้นตามโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพ  ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการศึกษาที่ 5  โดยกระทรวงศึกษาธิการมอบให้กรมอาชีวศึกษารับผิดชอบ โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2522 รัฐบาลไทยกู้ยืมเงินธนาคารโลกมาพัฒนาการศึกษาในโครงการนี้ 98.96 ล้านบาท  และเงินสมทบจากงบประมาณแผ่นดินอีก 137.84 ล้านบาท ให้ดำเนินการจัดตั้งขึ้น     เขตการศึกษาละ 1 ศูนย์ รวม 12 ศูนย์ 5 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ศูนย์ฝึกวิชาชีพปัตตานีอยู่ระยะที่ 1 พ.ศ.2522-2524  วัตถุประสงค์เพื่อให้บริการการเรียนการสอนวิชาชีพตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายทั้งของรัฐบาลและเอกชนในเวลาราชการ  และบริการหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นแก่ประชาชนผู้สนใจ ตั้งแต่เวลา 17.00 - 20.00 น. เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพให้กว้างขวางออกไปสู่ภูมิภาค เป็นการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม และประเทศชาติอย่างเต็มที่

            กรมอาชีวศึกษา  เดิมซึ่งปัจจุบันเป็น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อนุมัติใช้พื้นที่ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกวิชาชีพปัตตานี มีพื้นที่ประมาณ 13 ไร่ ด้วยเงินงบประมาณ 18,036,261 บาท ทั้งนี้ไม่รวม ค่าสิ่งก่อสร้างวิชาการเกษตร ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เป็นศูนย์ขนาดเล็กสามารถบริการการเรียน การสอนได้คราวเดียวกัน 9 ห้องเรียน รับนักเรียนได้ 700 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกระดับฐานะให้ศูนย์ฝึกวิชาชีพเป็น “วิทยาลัยการอาชีพ” ทั่วประเทศขยายบทบาทเปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง

การคมนาคม    

          ห่างจาก  ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี        ประมาณ  1  กิโลเมตร

          ห่างจาก  กรุงเทพมหานคร                               ประมาณ  1,050  กิโลเมตร

ขนาดพื้นที่และสภาพพื้นที่   

          จำนวน  13  ไร่

สภาพชุมชน 

          มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม


ข้อมูลทั่วไป/ที่ตั้งของสถานศึกษา

จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ห่างจากรุงเทพฯ ๑,๐๕๕ กม. มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๙๔๐.๓๕ ตร.กม. หรือ ประมาณ ๑,๒๑๒,๗๒๓ ไร่ มีอาณาเขต ติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง

ทิศเหนือ ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศใต้ ติดต่อกับเขตอำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และเขตอำเภอบาเจาะ   จังหวัดนราธิวาส
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตอำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

สภาพภูมิประเทศ แบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ประกอบด้วย พื้นราบชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ ๑ ใน ๓ ของพื้นที่จังหวัด ได้แก่ ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัดมีหาดทรายยาว และเป็นที่ราบชายฝั่งกว้างประมาณ ๑๐ - ๓๐ กิโลเมตร พื้นที่ราบลุ่ม บริเวณตอนกลาง และตอนใต้ของจังหวัด มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่านที่ดินมีความเหมาะสม ในการเกษตรกรรมและพื้นที่ภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนน้อยอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอโคกโพธิ์ อำเภอกะพ้อ และทางตะวันออกของอำเภอสายบุรี

ลักษณะอากาศทั่วไป จังหวัดปัตตานี อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล ๒ ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนตั้งแต่ ภาคกลางขึ้นไปมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไปกลับมีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี้ พัดผ่านอ่าวไทยจึงพัดพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไป ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนบนของ ประเทศ และจังหวัดปัตตานีซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกซึ่งปิดกั้นกระแสลมเอาไว้ จึงทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดปัตตานีมีฝนน้อยกว่าภาคใต้ ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุม

สภาพเศรษฐกิจและสังคม

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดปัตตานีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ด้านอุปสงค์ การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวเล็กน้อยจากระดับราคาสินค้าปรับลดลง ด้านอุปทาน ภาคการเกษตรหดตัวจากสาขาการประมงทะเล อุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยวหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภคยังเร่งตัวขึ้นจากราคาสินค้าหมวดอาหาร ส่วนปริมาณสินเชื่อลดลงจากการระมัดระวังการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ตามภาวะเศรษฐกิจ

ด้านประเพณีวัฒนธรรม

          งานประเพณีสำคัญ ๆ ของจังหวัดปัตตานีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาในอดีต ได้แก่

  1. เทศกาลสงกรานต์  จัดให้มีขึ้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี มีการทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
  2. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ  เป็นประเพณีสืบทอดกันมายาวนานแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ
  3. ประเพณีชักพร (ลากพระ)  จัดให้มีขึ้นในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นประจำทุกปี
  4. ประเพณีลอดกระทง  จัดขึ้นเดือนพฤศจิกายนตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ ประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ เป็นต้น

          โครงสร้างพื้นฐาน

          การขนส่งทางบก         

-  รถยนต์  ปัตตานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,055 กิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 จนถึงจังหวัดชุมพร รวมระยะทางประมาณ 460 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 41 หรือ 42 ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ผ่านปากน้ำเทพา เข้าสู่จังหวัดปัตตานี รวมระยะทางประมาณ 505 กิโลเมตร

-  รถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถด่วนและรถเร็วบริการถึงสถานีปัตตานี (โคกพธิ์) ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690,  0 2223 7010, 0 2223 7020

จากสถานีปัตตานี จะมีรถโดยสารประจำทางและรถแท๊กซี่บริการ ระหว่างอำเภอ    โคกโพธิ์-อำเภอเมือง ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร

-  รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ของ บริษัท ขนส่ง จำกัด ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนีไปจังหวัดปัตตานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.           0 2435 1119, 0 2434 5557-8

-  เครื่องบิน  ไม่มีเที่ยวบินตรงไปจังหวัดปัตตานี สามารถเดินทางโดยใช้สายการบินที่ให้บริการเส้นทางบินตรงจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ 3 สายการบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย (Thai Air Asia) ไทยไล้ออนแอร์ (Thai Lion Air) และนกแอร์ (NokAir) นอกจากนี้สามารถใช้บริการเส้นทางบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ด้วยสายการบินไทยสมายล์ (Thai Smile Airways) และเดินทางต่อไปยังจังหวัดปัตตานีได้ด้วยรถตู้บริการลีมูซีน รถตู้โดยสารประจำทาง และรถแท๊กซี่ ระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง

ความร่วมมือต่อชุมชนต่อสถานศึกษา

วิทยาลัยการอาชีพปัตตานีตั้งอยู่ในใจกลางเมืองปัตตานี ได้รับความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานอาชีพ ปีละประมาณ 400 กว่าแห่งในแต่ละปีการศึกษา การให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาในการพัฒนาการเรียนการสอน


วิสัยทัศน์สถานศึกษา

องค์กรแห่งการเรียนรู้คู่คุณธรรม มุ่งผลิตผู้สำเร็จการศึกษา อาชีวศึกษาให้ได้มาตรฐาน

สอดคล้องความต้องการกำลังคน ในการพัฒนาประเทศ


อัตลักษณ์ เอกลักษณ์

อัตลักษณ์

 "เป็นคนดี   มีจิตอาสา  วิชาชีพเด่น"

 

เอกลักษณ์

 "หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน

บริการวิชาชีพสู่ชุมชน บนพื้นฐาน

สังคมพหุวัฒนธรรม"


ปรัชญาสถานศึกษา

ฝีมือเลิศ  ประเสริฐน้ำใจ  วินัยเคร่งครัด  มัธยัสถ์และซื่อตรง


จุดเด่น จุดเน้น

 จุดเด่น

"วิชาชีพเด่น เน้นบริการ สาขางานทันสมัย"

  

จุดเน้น

"สร้างคนดี มีทักษะ พัฒนานวัตกรรม"


สัญลักษณ์ของสถานศึกษา

สัญลักษณ์

 

สีประจำวิทยาลัย

เขียว-ทอง

          สีเขียว คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เจริญงอกงามนำความรุ่งเรืองสดใสมาสู่กระแสเชี่ยวที่ไหลเวียนอยู่โดยรอบในทางจิตวิทยา สีเขียวเป็นสีของธรรมชาติ ความอุดม-สมบูรณ์เมื่อมองดูจะให้ความรู้สึกสดชื่นของธรรมชาติ ดูเหมือนว่าสีเขียวจะแทนธรรมชาติที่ดี ๆ โดยรวม สีเขียวช่วยบำบัดความเคร่งเครียดได้ไม่ว่าจะเป็นการประดับตกแต่งสถานที่ด้วยต้นไม้ก็จะส่งผลไม่ต่างกัน 

         สีทอง คือ สีที่แสดงถึงความมั่งคั่ง มั่งมี อบอุ่น เป็นมิตร สร้างสรรค์ หรือนักคิดค้น ประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ อิสระ ความเมตตา และการมองโลกในแง่ดี

 

 

ดอกไม้ประจำวิทยาลัย

ดอกทองหลาง

ดอกไม้ประจำวิทยาลัยฯ      ดอกปาริชาติ

    ชื่อสามัญ                       :  Coral Tree
    ชื่อวิทยาศาสตร์              :  Erythrina crista - galli
    ตระกูล                         :  PAPILIONACEAE

 ความหมายของดอกปาริชาติ

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นปาริชาติไว้ประจำบ้านจะทำให้มีทองมาก มีความร่ำรวย เพราะทองหลางเป็นไม้มงคล นาม คือ มีทองมากมายหลากหลาย นอกจากนี้ปาริชาติใบสีทองยังมีความสวยงาม ดุจประกายทองสีเหลือง เรืองรองดูดาดตาและโบราณยังมีความเชื่ออีกว่าถ้านำใบปาริชาติไปใช้เป็นเครื่องประกอบในพิธีสำคัญทางศาสนาจะทำให้เกิดสิริมงคลยิ่งขึ้น เช่น พิธีปลูกบ้าน พิธีแต่งงาน และยังเชื่ออีกว่า ต้นปาริชาติเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลูกบนสวรรค์ในสมัยพุทธกาล จึงได้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นประวาลพฤกษ์หรือต้นทองหลาง